Home / AAT review application / Bridging visa
single

Bridging visa

 

Bridging visa คืออะไร

 

คนเขียนมักจะอธิบายแบบสั้นๆง่ายๆให้ลูกความฟังว่า Bridging visa คือวีซ่า “รอ” …. รออะไร … ก็รอผลการพิจารณาของวีซ่าตัวจริงที่เรายื่นขอไปไงคะ เช่นวีซ่านักเรียน วีซ่าคู่ครอง วีซ่าทำงาน  อิมมิเกรชั่นเรียกวีซ่าตัวจริงพวกนี้ว่า “Substantive visa”

 

วีซ่า “รอ” (Bridging visa) กับวีซ่าตัวจริง (Substantive visa) มีความสัมพันธ์กันอยู่ค่ะ

 

  • พอเรายื่นขอวีซ่าตัวจริงอะไรซักอย่างเข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เช่นวีซ่านักเรียน วีซ่าคู่ครอง วีซ่าทำงาน
  • อิมมิเกรชั่นก็จะออก Bridging visa มาให้ เพื่อที่ผู้สมัครจะได้ “รอ” ผลการพิจารณาวีซ่าอยู่ในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกกฏหมาย
  • โดยส่วนใหญ่แล้วอิมมิเกรชั่นจะออก Bridging visa ให้โดยอัตโนมัติเมื่อมีการยื่นขอ Substantive visa …. ใช้คำว่า “โดยส่วนใหญ่” เพราะก็มีบางกรณีที่ Bridging visa ไม่ได้ออกให้อัตโนมัติ คือต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นขอกันตังหาก
  • ถ้าอิมมิเกรชั่นพิจารณาออกวีซ่าตัวจริง (Substantive visa) ให้ ผู้สมัครก็จะเปลี่ยนจากการถือวีซ่า “รอ”  (Bridging visa) ไปถือวีซ่าตัวจริงโดยอัตโนมัติ
  • ถ้าอิมมิเกรชั่นปฏิเสธไม่ให้วีซ่า ตัว Bridging visa ที่ถืออยู่ก็จะหมดไป 28 วัน หรือ 35 วัน หลังจากที่ผู้สมัครได้รับแจ้งการถูกปฏิเสธวีซ่า

 

Q: ทำไมต้องมี 28 วัน หรือ 35 วันด้วย??
A: ก็เพราะมีกฏเปลี่ยนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2016

 

Q: แล้วจะทราบได้ยังไงว่า Bridging visa หมดอายุเมื่อไหร่กันแน่
A: ถ้า Bridging visa ออกก่อนวันที่ 19 พฤศจิการยน 2016 – 28 วัน
    ถ้าออกวันที่ 19 พฤศจิการยน 2016 หรือหลังจากนั้น – 35 วัน
    ทางที่ดีที่สุด เช็ค VEVO ค่ะ

 

  • ถ้าถูกปฏิเสธวีซ่า และมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ไปที่ AAT และได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่ AAT …. Bridging visa แทนที่จะหมดอายุใน 28 หรือ 35 วัน ก็จะยืดออกโดยอัตโนมัติ …คือไม่หมดอายุ… คือรอต่อไป รอผลการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ (คนเขียนถึงเรียก Bridging visa เป็นภาษาไทยสั้นๆว่าวีซ่า “รอ”)  นอกเรื่องนิดนึง…
    • ทุกครั้งที่เขียนเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ คนเขียนจะย้ำเสมอว่า อุทธรณ์ไม่ใช่ทางออกของทุกเคสนะคะ (ครั้งนี้ก็ต้องย้ำ) คือมันไม่ใช่สูตรนะคะว่าพอถูกปฏิเสธจะต้องยื่นอุทธรณ์ ต้องดูความเหมาะสมของเคส  ด้วย ว่าควรยื่นอุทธรณ์หรือไม่
    • บางเคสมีโอกาสยื่นขอวีซ่าไปที่อิมมิเกรชั่นใหม่ และการยื่นใหม่อาจจะดีกว่าการยื่นอุทธรณ์
    • บางเคสถึงจะมีโอกาสยื่นขอวีซ่าใหม่อีกครั้ง แต่การยื่นอุทธรณ์น่าจะมีโอกาสได้วีซ่ามากกว่า
    • บางเคสเมื่อพิจารณาตัวบทกฏหมายและสถานการณ์ของเคส ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่มีโอกาสชนะที่ชั้นอุทธรณ์ ก็ไม่ควรยื่น
    • บางเคสถึงจะไม่มีโอกาสผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ก็ควรยื่น (แต่ก็ไม่ใช่ทุกเคส เพราะถ้าการยื่นไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับเราเลย นอกจากการเสียตังค์ ก็ไม่ทราบว่าจะเสียตังค์ไปทำไม)
    • บางเคสก็ควรจะยื่นอุทธรณ์ด้วย ยื่นใหม่ด้วย เพื่อเป็นการเปิดทางเลือกให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นตามโอกาสที่มากขึ้น (ย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่สูตร ไม่ได้ใช้ได้กับทุกเคสทุกสถานการณ์ ในบางเคสก็เป็นการใช้เงินโดยเปล่าประโยชน์)

 

  • ในกรณีที่เคสชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสก็จะถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาอีกครั้ง วีซ่า “รอ” ก็ยังคงอยู่ เพราะก็ยังรอผลการพิจารณาจากอิมมิเกรชั่นอยู่
  • ถ้าแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ ก็ย้อนกลับไปดูข้างบน ระยะเวลา 28 หรือ 35 วัน ก็จะเริ่มหลังจากที่ได้รับการแจ้งผลอุทธรณ์
  • บางเคสมีทางไปต่อนะคะ แต่หลังจากนี้จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อนแล้ว

 

คนเขียนขอสรุปวีซ่า “รอ” ที่เจอกันเป็นปกตินะคะ  (แบบไม่ปกติขอไม่พูดถึง)

 

Bridging visa A – รออยู่ในประเทศเท่านั้น ออกไปเที่ยวนอกประเทศระหว่างรอไม่ได้ (จริงๆ คือ ออกได้ แต่จะไม่ได้กลับเข้ามา)

 

Bridging visa B – สำหรับคนที่ต้องการออกไปเที่ยว ไปเยี่ยมญาติ ไปทำธุระนอกประเทศระหว่างรอการพิจารณาวีซ่าตัวจริง Bridging visa B นี่เป็นวีซ่าแบบที่อิมมิเกรชั่นไม่ได้ออกให้โดยอัตโนมัตินะคะ ต้องสมัครและเสียตังค์ด้วย และเฉพาะคนที่ถือ ฺBridging visa A เท่านั้นนะคะ ที่จะขอ Bridging visa B ได้

 

Bridging visa C – จะออกให้กับคนที่มีสถานะเป็นผี (ไม่มีวีซ่า) หรือถือ Bridging visa (ที่ไม่ใช่ Bridging visa E) ตอนยื่นขอวีซ่าตัวจริง

 

Bridging visa E – จะออกให้กับคนที่มีสถานะเป็นผี ที่ต้องการเตรียมตัวเดินทางกลับออกไป หรือมีการยื่นอุทธรณ์ในกรณีวีซ่าถูกยกเลิก หรือมีการยื่นอุทธรณ์ไปหารัฐมนตรีด้านคนเข้าเมือง ในกรณีแบบนี้ต้องมีการยื่นขอนะคะ อิมมิเกรชั่นไม่ได้ออก  Bridging visa E ให้โดยอัตโนมัติ และสำหรับคนที่เป็นผีและเคยได้รับ Bridging visa E มาแล้ว และมีการยื่นขอวีซ่าตัวจริงเข้าไป โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะได้ Bridging visa E โดยอัตโนมัติ

 

ในกรณีที่เคสค่อนข้างซับซ้อน ก็อาจจะมีอาการงงๆกันนิดนึงว่าตกลงถือ Bridging visa ตัวไหนกันแน่ บางคนก็ได้ Bridging visa มาหลายตัวเพราะยื่นขอวีซ่าหลายตัว หรือมีการยื่นอุทธรณ์ด้วย ขอวีซ่าใหม่ด้วยเป็นต้น

 

คิดอะไรไม่ออก เช็ค VEVO ค่ะ

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com